เพิกถอนการขายทอดตลาด

เพิกถอนการขายทอดตลาด สามารถทำได้หรือไม่ กรณีใดบ้างและอ้างเหตุผลใด

การขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น สามารถทำได้ครับ แต่มีระยะเวลาตามกฎหมาย โดยเจ้าของทรัพย์เดิมสามารถยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้ไม่ว่าในเวลาใด ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ทั้งนี้ ในคำร้องดังกล่าวจะต้องอ้างเหตุผลตามกฎหมายด้วยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย เช่น มิได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ให้เจ้าของทรัพย์เดิมทราบถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์ของตน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่สุจริต มีการสมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อทรัพย์ กดราคา และกระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์เดิม ซึ่งเป็นการร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ยื่นคำร้องก็ยังมีข้อควรระวัง หากยื่นคำร้องเข้ามาโดยไม่มีมูลและเพื่อประวิงให้ชักช้าจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จึงขออ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7313/2552 ซึ่งได้วางหลักและอธิบายความหมายของกฎหมายวิธีสะบัญญัติในเรื่องนี้ได้ดีพอสมควรครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7313/2552

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ดังนี้ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่า คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหก การที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน

พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสามตกลงผ่อนชำระเป็นงวด หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2732 ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 2 ชั้น ของจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาที่ดิน 250,000 บาท ราคาสิ่งปลูกสร้าง 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท ระหว่างบังคับคดีจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของ

 

 

 

จำเลยที่ 3 ในการขายทอดตลาดครั้งแรกไม่มีผู้เข้าสู้ราคา ครั้งที่ 2 มีผู้เข้าสู้ราคาหนึ่งราย เสนอราคาสูงสุดที่ 240,000 บาท จำเลยที่ 3 คัดค้านการขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขาย วันที่ 19 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้ทำบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ขึ้นในวันดังกล่าว โดยโจทก์ยอมให้จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แต่ชำระตรงตามสัญญาและไม่ตรงตามสัญญาบ้าง แต่โจทก์มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ได้มีการขายทอดตลาดครั้งที่ 4 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 3 คือ นางกมลวรรณ นางวิภาวรรณ และผู้ร้องที่ 2 ทราบ แต่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบ มีผู้เข้าสู้ราคา 2 ราย ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด 530,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายจึงเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์คัดค้านและขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินประกันความเสียหาย ต่อมาผู้ร้องทั้งสองนำเงินประกันความเสียหายมาวางศาล 50,000 บาท ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่มีมูล ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยในทรัพย์ที่ซื้อคิดเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องเป็นเวลา 15 เดือน เป็นเงิน 75,000 บาท และผู้ซื้อทรัพย์ต้องเสียค่าทนายความและค่าจ้างในการต่อสู้คดีเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับผู้ร้องทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไปโดยขอรับเงินประกันความเสียหายที่ผู้ร้องทั้งสองวางศาลมาชำระเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำสั่ง (วันที่ 21 มีนาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ซื้อทรัพย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ว่า หากผู้ซื้อทรัพย์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมได้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย กล่าวคือมิได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หรือให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงวันขาย

 

 

 

ทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยไม่สุจริต สมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อทรัพย์กดราคา และกระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นการร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 296 วรรคสอง หากผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งอาจได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองวางเงินหรือหาประกันต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นการประกันค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นได้ ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนำเงินมาวางประกัน 50,000 บาท ซึ่งผู้ร้องทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ผู้ร้องทั้งสองยื่นอุทธรณ์ หากผู้ซื้อทรัพย์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ซื้อทรัพย์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคท้าย ดังนั้น ที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีเดิมจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ซื้อทรัพย์ฟังขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าหรือไม่ เห็นว่า ระหว่างการขายทอดตลาดทรัพย์จำเลยที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์โดยขอผ่อนชำระหนี้ ตามบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และจำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระตามบันทึกดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะขอให้งดการบังคับคดี โดยงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ไว้ แต่โจทก์หาได้กระทำแต่อย่างใด คงปล่อยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งให้ผู้ร้องที่ 1 ทราบถึงวันขายทอดตลาด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด จึงมิใช่การยื่นคำร้องโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ฎีกาข้อนี้ของผู้ซื้อทรัพย์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

( ศิริชัย วัฒนโยธิน – ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล – กีรติ กาญจนรินทร์ )
ศาลจังหวัดสงขลา – นางสาวสุภัทรา กรอุไร
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 – นายจิรพงษ์ ทัศน์เอี่ยม
ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง, 296 วรรคหก, 309 ทวิ วรรคสอง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.